วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

จุดเด่นเพื่อสร้างความแตกต่าง :::โดดเด่นบนผิวกาแฟ : :ที่ทำให้คนเราตกหลุมรัก "กาแฟ

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี



กลิ่นหอมละมุน และรสชาติกลมกล่อมที่ช่วยเติมความกระปรี้กระเปร่าให้กับชีวิตดูจะเป็นเสน่ห์ง่ายๆ ที่ทำให้คนเราตกหลุมรัก "กาแฟ
ไม่ว่าจะเป็นถ้วยกระดาษทรงสูงห่อด้วยกระดาษทิชชู่ในมือ เคียงคู่เอกสารกองโต หรือในแก้วเซรามิกลายสวย ริมชายป่าเชิงดอย เครื่องดื่มชนิดนี้มักเข้าไปเกี่ยวดองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเราเสมอ อีกทั้งยังเป็นที่รู้กันในหมู่คอกาแฟว่า กาแฟจะอร่อยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเมล็ดกาแฟพันธุ์ เครื่องบด เครื่องชงมีคุณภาพ และฝีมือการชงกาแฟนั่นเอง

เทรนด์กาแฟที่โชยกลิ่นมาในช่วงหลายปีทำให้บรรดาแบรนด์ทั้งหลายพยายาม "ปั้น" จุดเด่นเพื่อสร้างความแตกต่าง และดึงดูดนักดื่มให้แปลกใจเล่นอยู่เสมอ กับฝีไม้ลายมือการชงกาแฟของเหล่าคนชงกาแฟ หรือ "บาริสต้า"




บาริสต้า (Barista) ตามความหมายของคำศัพท์ในภาษาอิตาลี หมายถึง บาร์แมน (Barman) หรือคนทำเครื่องดื่มในบาร์ เช่นเดียวกับ บาร์เทนเดอร์ ซึ่งเหล่านักชงกาแฟในเมืองไทย เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ปีพ.ศ.2547 พร้อมกับการจัดตั้งสมาคมบาริสต้าไทยขึ้นเพื่อรณรงค์ยกระดับมาตรฐานบาริสต้าไทยให้เทียบเท่าสากล โดยมีการส่งแชมป์บาริสต้าประเทศไทยไปร่วมในการแข่งขันระดับโลกในรายการ World Barista Championship จนกระทั่งปัจจุบันมีรายการแข่งขันชงกาแฟภายในประเทศด้วยรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้บาริสต้าที่มีความตั้งใจจริงได้มีเวทีให้แสดงออกมากขึ้นและสามารถพัฒนาฝีมือได้ดีขึ้นตามลำดับ

ปุ้ม-สิริทัย รังจันทึก เก๋-ลักขณา ดาวพราย และ ป้อน-ปรียา กุลทอง 3 สาวนังชงมือรางวัลจากร้าน "บลูคัพ" แมสคัสโตไมเซชั่นของ "ร้านเอส แอนด์ พี" ถือเป็นคลื่นลูกใหม่อีกกลุ่มของวงการ การรันตีฝีมือจากรางวัลชนะเลิศประเภททีม TCTA Latte Art Competition Thailand 2008 - 2010 และรางวัลชนะเลิศ Thailand Latte Art Champion Ship 2010

พี่ใหญ่อย่าง ปุ้มที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 9 ปี เล่าถึงความสนใจแรกเริ่มก่อนจะเข้ามาสวมชุดผูกผ้ากันเปื้อน "ชั่ง ตวง วัด" อยู่หลังเคาน์เตอร์ว่า เกิดจากความชอบกาแฟเป็นทุนเดิม ก่อนจะมาเรียนรู้ในร้านว่าการชงกาแฟนั้นมีมากกว่าแค่เทน้ำร้อนผสมน้ำตาล และนมข้นหวาน ขณะที่เก๋ และป้อนเรียนรู้คัมภีร์กาแฟจากการช่วยงานในร้าน เปลี่ยนตำแหน่งมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาลงตัวอยู่ตรงหน้าเครื่องชงกาแฟ

ทั้ง 3 คนต่างมองนิยามของบาริสต้าเปรียบได้กับเครื่องประดับประจำร้านกาแฟ โดยบาริสต้าย่อมไม่ใช่แค่พนักงานชงกาแฟเท่านั้น บาริสต้ายังถือเป็นหน้าตาของร้านอีกด้วย เพราะนอกจากชงกาแฟแล้ว ก็ยังต้องสามารถสร้างสรรค์บรรยากาศที่ดีให้แก่ร้าน และให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างน่าพึงพอใจที่สุด

"ทุกอย่างในบาร์ของเรา คือที่สุด" ปุ้มย้ำถึงความสำคัญของการก้าวสู่อาชีพ



นอกจากฝีมือในการปรุงกาแฟให้ถูกคอคนดื่มแล้ว ลวดลายบนผิวกาแฟก็ถือเป็น "ศาสตร์" ที่เหล่านักชงจะต้องเรียนรู้ด้วยเช่นกัน ถือเป็นศิลปะที่สร้างความสุนทรีย์ในการดื่มซึ่งขาดไม่ได้ในกาแฟแต่ละถ้วยที่ถูกเสิร์ฟ เรียกกันว่า ‘ลาเต้ อาร์ต’ (Latte Art)

ลาเต้ อาร์ต หรือการสร้างสรรค์ศิลปะเป็นลวดลายจากโฟมนม ลงบนน้ำกาแฟที่เคลือบผิวหน้าด้วย‘เครม่า’หรือโฟมของกาแฟ แน่นอน ความวิจิตรบรรจงดังกล่าวขึ้นอยู่กับ "มือ" ของบาริสต้าแต่ละคนว่าจะ "นิ่ง" และเนียนได้ขนาดไหน

"ไม่ยากค่ะ จริงๆ อยู่ที่ความชอบ ความใส่ใจ และความสนุกสนาน" เก๋ออกตัว ก่อนที่ ปุ้มจะอธิบายเพิ่มเติ่มถึงสไตล์การแต่งลาเต้อาร์ตที่มีทั้งการส่ายข้อมือ ผลิกแก้ว และวาดลาย

"บาริสต้าแต่ละคนการทำลาเต้อาร์ตก็ไม่เหมือนกัน อยู่ที่มือแต่ละคน เบสิกทุกคนคือ ต้องทำชอตเอสเพรสโซ่ให้เพอร์เฟค ทำครีมนมให้เนียน เทฟองนมให้ได้ในปริมาณที่ต้องการ หลังจากนี้ ก็จะขึ้นอยู่กับเทคนิคส่วนบุคคล บางคน อาจจะส่ายข้อมือ ก็จะได้เป็นใยแบบหนึ่ง ถ้าข้อมืออ่อนก็จะได้ใบอีกแบบหนึ่ง บางคนเทข้างๆ แก้วก็จะได้ใบอีกแบบหนึ่ง" ปุ้มบอก

ดอกทิวลิปกับฝูงผีเสื้อ กุหลาบหิน นกยูงรำแพน หรือใบไม้ ตลอดจนลวดลายอื่นๆ ก็ล้วนขึ้นอยู่กับจินตนาการ และจังหวะในการ "ลงลาย" ซึ่งพวกเธอยอมรับว่า กว่าจะผ่านขั้นตอนเหล่านี้ออกมาได้นั้น จะต้องใช้เวลาฝึกฝนทั้งหลังบาร์ และหน้าเคาน์เตอร์อยู่พอสมควร

"สมาธิสำคัญมากนะคะ" ป้อนออกความเห็น เพราะในการแข่งขันนี่คือกุญแจดอกสำคัญ

ที่สำคัญอาชีพนี้ถือเป็นการ "เปิดโอกาส" นำไปสู่เส้นทางใหม่ๆ ในชีวิตให้กับพวกเธออีกด้วย

"ให้โอกาสหลายๆ อย่าง ที่คนอื่นเขาไม่ได้นะ เราได้เดินทางไปต่างประเทศ ระดับโลก 2 ครั้ง เอเชียครั้งหนึ่ง เรื่องแบบนี้ชีวิตนี้คงไม่ได้หากันง่ายๆ" ปุ้มยกตัวอย่างประสบการณ์ที่ต่อยอดออกมาจากการแข่งขัน

ขณะที่ ป้อน และเก๋ ช่วยเสริมในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์

"ลายเบสิกแต่ละลายก็สามารถสร้างสรรค์ต่อให้กลายเป็นลายอื่นๆ ได้"

นอกจากนี้ รสชาติกาแฟแบบเดิมๆ ที่พวกเธอเคยรู้จักก็ถูกเปลี่ยนโฉมไปโดยสิ้นเชิง

"จากที่เราไม่ชิมกาแฟสดเลย รู้จักแต่กาแฟสำเร็จรูป ฮิตมาก 10 บาท (หัวเราะ) วันนี้เราเปลี่ยนไป รู้รสของกาแฟสดว่ามันนุ่มขึ้น ทำใหม่ขึ้น หอมขึ้น ชิมมันยังไงให้มีความหมาย และสร้างจินตนาการ" สาวปุ้มถ่ายทอดมุมมอง

"ทำให้รู้ว่าเอสเพรสโซ่แก้วหนึ่งให้อะไรกับเราบ้าง กลิ่นหอม บอดี้ที่ดี กรดความเปรี้ยว เป็นต้น" เก๋เสริม

แม้วันนี้ลวดลายบนผิวกาแฟจะสร้างประสบการณ์ และความสำเร็จมาสู่ชีวิตของพวกเธอ แต่ถึงอย่างนั้น ทั้งหมดก็ยังยอมรับว่า กาแฟถ้วยนี้ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกเยอะ

"แค่หารสหวานในความขม ก็คุยกันไม่หมดแล้วค่ะ" คำตอบนั้นเคลือบเสียงหัวเราะไว้ชัดเจน
...........................
ที่มา นสพ กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น